ข้าวหลามดง ไม้หอมวงศ์กระดังงา

หน้าแรก ต้นไม้ ข้าวหลามดง ไม้หอมวงศ์กระดังงา

ข้าวหลามดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Goniothalamus laoticus (Finet & Gagnep.) 
วงศ์ ANNONACEAE (วงศ์กระดังงา) สกุลปาหนัน Goniothalamus 

"ข้าวหลามดง" ชื่อแปลก ดอกแปลก กลิ่นหอมแปลก แต่หอมแรง
ข้าวหลามดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Goniothalamus laoticus (Finet & Gagnep.) Ban
ชื่ออื่น ๆ (ชื่อพื้นเมือง/ชื่อท้องถิ่น/ชื่อทางการค้า) ว่า จำปีหิน (ชุมพร), นมงัว (ปราจีนบุรี), ปอขี้แฮด (เชียงใหม่)
ข้าวหลามดงเป็น ไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย จัดอยู่ใน วงศ์กระดังงา ANNONACEAE

ที่มาของชื่อ "ข้าวหลามดง" มาจากกลิ่นของลำต้นหรือกิ่งเมื่อถูกเผาไฟจะมีกลิ่นไหม้คล้าย ๆ กับกลิ่นหอม
ของกระบอกข้าวหลามที่เผาสุกใหม่ ๆ ส่วนคำว่า "ดง" นั้นสื่อถึงว่า เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามดงพงป่า หรือใส่คำว่า "ดง" 
ต่อท้ายชื่อเพื่อให้แตกต่างกับต้น "ข้าวหลาม" (ข้าวหมาก) ที่อยู่สกุลเดียวกัน (แต่ขึ้นในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน)

"ดอกข้าวหลามดง" นอกจากชื่อจะแปลกและดอกมีกลิ่นหอมแรงแล้ว ข้าวหลามดงยังมีความหลากหลายทาง
สายพันธุ์สูงมาก ดอกมีลักษณะกลีบดอกที่แตกต่างกันหลายแบบ เช่น กลีบงอน กลีบงุ้ม กลีบบิดเกลียว กลีบใหญ่
 กลีบเล็ก เป็นต้น และเมื่อดอกสุกแล้วยังมีหลากหลายสีสันให้เลือกอีกด้วย เช่น ดอกสีเหลือง ดอกสีส้ม 
ดอกสีชมพู หรือดอกสีแดง เป็นต้น

ข้าวหลามดง จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้นักสะสมพรรณไม้ดอกหอมใน สกุลปาหนัน วงศ์กระดังงา ANNONACEAE 
ต่างพากันหลงใหลและแสวงหามาปลูกไว้ในครอบครอง

ดอกข้าวหลามดงจะออกดอกที่ซอกใบตามลำต้นและกิ่ง เมื่อดอกอ่อนมีสีเขียวยังไม่มีกลิ่น แต่เมื่อดอกสุก
จะเริ่มเปลี่ยนสีและเริ่มส่งกลิ่นหอมแรง โชยฟุ้ง ในช่วงเย็น ดอกข้าวหลามดงมีกลิ่นหอมคล้าย ๆ กับเหล้าสาโท
และข้าวหมาก ผสม ๆ กัน จึงยากเกินบรรยาย (ตามสไตล์กลิ่นหอมของไม้ดอกหอมในสกุลนี้) 

ดอกข้าวหลามดงคล้าย ดอกแสดสยาม เป็นไม้วงศ์กระดังงาเช่นเดียวกัน แต่ข้าวหลามดงกลีบหนากว่า 
มีขนาดต้นสูงใหญ่กว่า ชอบแดดรำไร ถ้าแดดจัดใบไหม้ ดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแป้งข้าวหมาก ดมมาก ๆ เมา

ฤดูการออกดอก : เดือน เม.ย.- ก.ค. ผลแก่ มิ.ย.-ก.ย.
เวลาที่ดอกหอม : ตอนเย็น ถึงเช้าของอีกวัน
 
*พันธุ์ไม้ชนิดนี้จะส่งกลิ่นหอมตอนช่วงที่ดอกใกล้จะโรยแล้วเท่านั้น (ช่วงที่ดอกมีสีเหลืองอมส้ม) 
ช่วงที่ดอกอกใหม่ ๆ ยังไม่ส่งกลิ่นหอม

ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูกางออกจากกัน ส่งกลิ่นหอมเย็น ดอกบาน 2-3 วันแล้ว
จึงโรย อีกพันธุ์หนึ่งดอกเปลี่ยนจากสีเขียวอมเหลืองเป็นสีส้มแดงแล้วจึงโรย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่หายากมากกว่า 
ออกดอกทยอยตลอดปี

การขยายพันธุ์ : ทาบกิ่ง เพาะเมล็ด (ต้องใช้เวลานาน 2- 3 เดือน เพราะว่าเปลือกเมล็ดแข็ง) 
หากต้องการปลูกให้ออกดอกในกระถาง ควรใช้วิธีทาบกิ่ง ส่วนวิธีการตอน พบว่าออกรากยากมาก

ข้อดีของข้าวหลามดง : ช่วงการออกดอก (ดอกทยอยบาน) นานเป็นเดือน ๆ 
พื้นที่ที่ใช้ปลูกไม่มาก ประมาณ 2 x 2 เมตรก็เพียงพอ ปลูกแทรกระหว่างไม้ใหญ่ ๆ ได้ดีต้นหนึ่ง 

ข้อแนะนำ : การปลูกในพื้นที่มีแดดรำไรมีการติดของเมล็ด ควรปลูกในพื้นที่มีแดดรำไร และต้องดูแลเป็นพิเศษในปีแรก 
ข้อมูลอื่น ๆ : ข้าวหลามดงเป็นพันธุ์ไม้หอมที่โตช้า การขยายพันธุ์ช้า เป็นพันธุ์ไม้ที่ราคาค่อนข้างแพงตลอดเวลา 
ไม่เหมือนไม้ชนิดอื่น ๆ
ข้าวหลามดงกับการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ 

มีการศึกษาพบว่า สารในข้าวหลามดงมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย เชื้อวัณโรค และเซลมะเร็ง 
ปัจจุบันนักวิจัยสนใจข้าวหลามดงในการพัฒนาเพื่อใช้เป็นยารักษามะเร็ง 


ข้าวหลามดงเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย ลาว เวียดนาม มีประวัติการใช้เป็นยามาอย่างยาวนาน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก 

แต่ก่อนจัดว่าเป็นไม้หายากชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันนิยมนำข้าวหลามดงมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากเวลาออกดอก 
ดอกจะออกเต็มลำต้นสวยงามมาก หากเพียงแต่ได้รู้สรรพคุณด้วยแล้ว เขาก็ไม่ใช่พืชธรรมดาในดงดอยที่เราจะมองข้ามอีกต่อไป 

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า เปลือกต้น กิ่ง ใช้ต้มน้ำ ดื่ม เรียกน้ำนมสำหรับแม่ลูกอ่อน เหตุนี้จึงค่อนข้างจะมีโอกาสหายไป
จากป่าได้ง่าย ปัจจุบันค่องข้างหายาก

ข้าวหลามดงเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกหนาสีเทาอมดำ ใบเดี่ยว 
เรียงสลับสองข้างกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบ 
ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ก้านใบยาว 

ดอก เดี่ยวหรืออกเป็นกระจุก 2-5 ดอก ตามลำต้น กิ่งและตามง่ามใบ ก้านดอกยาว กลีบดอกยาว
สีเหลืองนวลถึงสีชมพู 

ผล ออกเป็นกลุ่ม 6-12 ผล รูปกลมรี หรือทรงกระบอก ไม่มีก้านผล 
ผลแก่สีเขียวอมเหลือง เมล็ดมีวุ้นหุ้ม

การกระจายพันธุ์ : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย ต่างประเทศ
พบที่ลาวและเวียตนาม ขึ้นในป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 200-900 เมตร ออกดอกเดือนเมษายน - กรกฏาคม
ข้าวหลามดง จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการไม้ดอกไม้ประดับ ที่เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก 
ปลูกประดับโชว์ทรงพุ่มที่กลางแจ้ง หรือต้องการโชว์ดอกดก ๆ ตามลำต้นและกิ่งเพื่อความสวยงาม และดอกยังมี
กลิ่นหอมแรง โชยกลิ่นหอมฟุ้งในยามเย็นช่วงใกล้ค่ำได้อีกด้วย

*พันธุ์ไม้ในวงศ์ Annonaceae หลายชนิดจะหอมตอนช่วงที่ดอกใกล้จะร่วงโรย ควรดมกลิ่นหอมให้ถูกเวลาด้วย 


ขอขอบคุณ: www.bloggang.com