พะยูง หรือ พยุง ไม้ที่มีราคาแพงแหล่งสุดท้ายของโลก

หน้าแรก ต้นไม้ พะยูง หรือ พยุง ไม้ที่มีราคาแพงแหล่งสุดท้ายของโลก

" หลายคนอาจมองไม้พะยูงไปในแนวทางการอนุรักษ์ป่าไม้ให้คงอยู่  เป็นผืนป่าสีเขียวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งไงล่ะ.....หลายคนอยากลงทุนปลูกป่าพะยูงในเชิงธุรกิจ เพราะมองไม้พะยูงเป็นสินค้าที่น่าจะทำเงินให้อย่างมหาศาลในอนาคต....แต่อีกหลายคนอาจมองไม้พะยูงเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรมาให้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์เท่านั้น.....แล้วคุณล่ะครับ..มองไม้พะยูงอย่างไร...?      




ความเป็นมาของไม้พะยูง


พะยูงเป็นชื่อพื้นเมืองทางการของไม้ชนิดนี้ แต่ก็มีการเรียกขานที่แตกต่างกันไป ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น กระยง กระยุง (เขมร – สุรินทร์) ขะยุง (อุบลราชธานี) ประดู่ลาย (ชลบุรี) พะยูงไหม (สระบุรี) ประดู่เสน (ตราด) ประดู่ตม (จันทบุรี) หีวสีเมาะ (จีน) เป็นต้น           
พะยูงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia cochinchinensis Pierre อยู่ในอนุวงศ์ Papilionaceae วงศ์ Leguminosea มีชื่อทางการค้าในตลาดต่างประเทศว่า Siamese Rosewood หรือ Thailand Rosewood  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย  พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
“พะยูง” เป็นไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกับไม้สัก ตะเคียน มีชื่อและความหมายดี เชื่อว่าบ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ช่วยไม่ให้ชีวิตตกต่ำ เพราะพยุงคือการประคับประคองให้คงอยู่ ให้มั่นคงหรือการยกให้สูงขึ้น

ต้นพะยูงจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร หรือก่อฐานประดิษฐ์ถาวรวัตถุต่างๆ เช่น พิธีก่อฤกษ์ หรือวางศิลาฤกษ์ การปลูกควรปลูกในวันเสาร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนไทยจัด ลำดับ ” พะยูง” ให้อยู่ใน 9 ชนิดไม้มงคลที่ปลูกไว้ในบ้าน ประกอบด้วย ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์, ทองหลวง, ไผ่สีสุก, กันเกรา, ทรงบาดาล, สัก, พะยูง, ขนุน กระทั่งมีกลอนบทหนึ่งที่กล่าวถึงไม้มงคลทั้ง 9 ในส่วนของไม้พะยูงว่า

                       " ไม้พะยูง พยุงฐานะงานทำนั้น     ให้คงมั่นพลันยิ่งทุกสิ่งที่
                         ปลูกไว้กันนั้นคุณจุนเจือมี            ไม้ดีดีไม่ดูดายขยายไป " 

พะยูงเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 15-25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ  เรือนยอดทรงกลม มักขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณชื้นทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคตะวันออก ใบกลมหรือรูปไข่  ผลัดใบในหน้าแล้ง  ออกดอกประมาณเดือน พ.ค.- ก.ค. และฝักจะแก่ราวเดือน ก.ค.- ก.ย.
การขยายพันธุ์ ต้องนำเมล็ดมาแช่ในน้ำเย็น 24 ชั่วโมง แล้วเพาะในกระบะเพาะหว่านให้กระจายทั้งกระบะเพาะ แล้วโรยทราย กลบเบาๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้ อายุ 10 -14 วัน ความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่สามารถย้ายชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ได้
ส่วนเนื้อไม้ที่ได้จะมีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียดแข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดีใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด และแม้แต่ ช้อน ส้อม ด้วยเป็นต้น 


ลักษณะทางวนวัฒนวิทยาและวนวัฒนวิธี


ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา
พะยูงเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นเปลา ตรง เปลือกสีเทา เรียบ และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง มีเรือนยอดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ทึบ
ลักษณะเนื้อไม้ เนื้อละเอียด เสี้ยนสนเป็นริ้วแคบ ๆ เหนียว แข็งทนทาน หนักมาก สีน้ำตาลอ่อนแกนสีแดงอมม่วง หรือสีม่วงกึ่งสีเลือดหมูแก่ เป็นมันเลื่อม และมีริ้วสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อนผ่าน เลื่อยผา ไสกบ ตบแต่งยาก ขัดและชักเงาได้ดีมีน้ำมันในตัว
ใบ เป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนก ช่อติดเรียงสลับ ยาว 10-15 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อยรูปรี ๆ แกมรูปไข่ ติดเรียงสลับ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ มีลักษณะรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ใบกว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. โคนใบมน แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย หลังใบมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ มี 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้านขอบใบเรียบ 
         
ดอก มีขนาดเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ทรงรูปดอกถั่ว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ยอด กลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ขอบหยักเป็น 5 แฉก กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายโล่ กลีบปีกสองกลีบรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงจะเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปเรือหรือพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เกสรผู้มี 10 อัน อันบนจะเป็นอิสระ นอกนั้นจะติดกันเป็นกลุ่ม รังไข่รูปรี ๆ ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนหลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว จะยาวยื่นพ้นกลุ่มเกสรผู้ขึ้นมา ระยะเวลาออกดอก ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 
                             
ผล เป็นฝัก ผิวเกลี้ยง แบน และบอบบาง รูปขอบขนาน กว้าง 1.2 ซม. ยาว 4-6 ซม. ตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ดมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือน หลังจากออกดอกซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ฝักเมื่อแก่จะไม่แตกออกเหมือนฝักไม้แดงหรือฝักมะค่าโม่ง ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดอยู่ในฝัก            
เมล็ด รูปไต สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ผิวค่อนข้างมัน กว้าง 4 ซม. ยาว 7 มม. เมล็ดจะเรียงตามยาวของฝัก ใน 1 ฝักจะมีเมล็ดจำนวน 1-4 เมล็ด

วนวัฒนวิธีและการจัดการ
เมื่อปลูกพะยูงไปแล้วก็มีวิธีการปฏิบัติและดูแลรักษาเช่นเดียวกับการปลูกไม้ป่าชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อต้นไม้พะยูงยังเล็กอยู่ควรใส่ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง และมีการกำจัดวัชพืช อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตัดแต่งกิ่งไม่มีความจำเป็นมากนักเพราะปลูกในระยะแคบทำให้มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ ส่วนการตัดสางขยายระยะขึ้นอยู่กับระยะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น คือ สังเกตว่า เมื่อเรือนยอดเริ่มเบียดเสียดกันมากก็เริ่มตัดสางขยายระยะได้และควรพิจารณาต้นที่โตด้อยกว่าต้นอื่นเป็นหลัก 


การกระจายพันธุ์และการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ


การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
เนื่องจากไม้พยุงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในหลายประเทศ มีสภาพภูมิอากาศและถูมิประเทศและระบบนิเวศน์ที่แตกต่างกันไป การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติจึงขี้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะและองค์ประกอบทางพันธุ์กรรมที่จะเอื้ออำนวยให้สายพันธุ์นั้น ปรับตัวได้ในสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์นั้นพรรณไม้ที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างของระบบนิเวศน์นั้น ๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นตัวกำหนดให้การวิวัฒนาการร่วมกันภายในแต่ละสังคมพืชแตกต่างกันไป และได้พรรณไม้ที่แตกต่างและเหมาะสมเฉพาะแต่ละท้องถิ่นและ จะส่งผลให้เกิดความผันแปรทางพันธุศาสตร์ระหว่างถิ่นกำเนิด เนื่องจากการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยจะพบพะยูงได้ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดิบแล้งทั่วไป ทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-200 เมตร

การขยายพันธุ์และการผลิตกล้า
แม้ในปัจจุบันวิทยาการด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ใน การขยายพันธุ์พืชได้หลายชนิด รวมทั้งไม้ป่าบางชนิดก็ตาม แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในระดับของการทดลองเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะสำหรับพรรณไม้ป่า เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยและงบประมาณที่สูง   และมีขบวนการค่อนข้างซับซ้อน การขยายพันธุ์พะยูงด้วยเมล็ดจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมและสะดวกที่สุด วิธีการผลิตและการเพาะชำกล้าพะยูงนั้น มิได้มีความแตกต่างและสลับซับซ้อนจาก การผลิตกล้าไม้ป่าชนิดอื่นเท่าไดนัก เนื่องจาก เมล็ดพะยูง มีความงันที่เปลือกอยู่บ้าง การเพาะเมล็ด
ถ้าจะให้ได้ผลดีและมีการงอกที่สม่ำเสมอ จึงควรขจัดความงันที่เปลือกออกด้วยการ ปฏิบัติต่อเมล็ดก่อนเพาะ ด้วยวิธีหนึ่ง อาจจะด้วยการแช่ในน้ำเย็นเป็นเวลา 25 ชม. หรือแช่ในกรดกำมะถันเข็มข้นเป็นเวลา 1 นาที แล้วล้างกรดออกด้วยน้ำไหล เป็นเวลา 30 นาที (ชนะ ผิวเหลือง และคณะ : 2532) หลังจากนั้นนำเมล็ด ไปเพาะในกระบะทรายที่เตรียมไว้ กลบเมล็ดด้วยทรายเพียงบาง ๆ รดน้ำสม่ำเสมอแต่อย่าให้แฉะเมล็ดพะยูงจะงอกหมดภายใน 7 วันหลังจากหว่าน เมื่อเมล็ดพะยูงงอกได้ ประมาณ 10-14 วัน ซึ่งกล้าอ่อน จะมีความสูงราว 1 นิ้ว และมีใบเลี้ยง 1 คู่ ก็สามารถย้ายไปชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ โดยทั่วไป มักใช้ถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว เจาะรูปประมาณ 8-12 รู สำหรับวัสดุที่ใช้ในการเพาะชำกล้าไม้ อาจจะมีส่วยผสมที่แตกต่างกันไป แต่จากผลการทดลองพบว่าส่วนผสมระหว่าง ดินตะกอนริมห้วย : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ : ปุ๋ยหมัก = 5 : 2 : 2 : 1 มีความเหมาะสมที่สุด (สุคนธ์ สิมศิริ และคณะ : 2531)

ระยะเวลาที่ใช้ในการอนุบาลกล้าพะยูงในเรือนเพาะชำนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการบำรุงและ การดูแลรักษา โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 3 - 5 เดือน จึงจะได้กล้าไม้ขนาดที่เหมาะสมต่อการย้ายปลูก  ซึ่งควรที่จะมีความสูงไม่น้อยกว่า 30 ซม. ทั้งนี้เพื่อให้กล้ามีความแข็งแรงและสามารถแก่งแย่งกับวัชพืชได้ 


การคัดเลือกพื้นที่ และการเจริญเติบโต


การคัดเลือกพื้นที่และการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก
พะยูงแม้จะจัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าของไม้ชนิดนี้นับว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับ ไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น สัก เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรม อนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร การปลูกเชิงพาณิชย์หรือวนเกษตรเพราะยังมิได้มีนโยบายกำหนดไว้ว่าจะต้องปลูกไม้พะยูงในอัตราส่วนหรือจำนวนเท่าใดของเป้าหมายของการปลูกป่าของแต่ละปี การปลุกไม้พะยูงโดยทั่วไปจึงยังอยู่ในระดับที่ต่ำและมักจะเป็นการปลูกเพื่อการทดลอง สาธิตหรือ จากความสนใจเฉพาะบุคคล จึงยังมิได้มีการสรุปถึงวิวัฒนาวิธีที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไม้พะยูง อย่างไรก็ตามไม้พะยูงสามารถปลูกได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ทั้งทางภาคอีสานและภาคใต้(ดำรง ใจกลม : 2528) การคัดเลือกพื้นที่และการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกพะยูงจึงมิได้มีความแตกต่างหรือสลับซับซ้อนจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการปลูกพรรณไม้ชนิดอื่นเท่าใดนัก การเตรียมพื้นที่ที่สำคัญ จึงประกอบด้วยการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก การไถพรวนพื้นที่หากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย เช่น เป็นที่ราบ และการเก็บและทำลายเศษปลายไม้และวัชพืช
               
                           แปลงพะยูง อายุ 11 เดือน และอายุ 1 ปี 9 เดือน ปลูกแซมด้วยกล้วยหอมทองและมะละกอ 

การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์

เนื่องจากตามสภาพธรรมชาติไม้พะยูงจะขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้งทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้นจึงสามารถปลูกพะยูงได้ในหลายพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ การเตรียมพื้นที่ปลูกพะยูงก็มีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพรรณไม้ป่าชนิดอื่น
ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพะยูง ควรจะปลูกระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นหรือกลางฤดูฝนและควรใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดไปปลูกซึ่งระยะปลูกที่ใช้ปลูกกันคือระยะ 3×3 หรือ 2×3 เมตร ก่อนนำไปปลูกควรใส่ปุ๋ยต้นละ 1 ช้อนชา เพื่อให้กล้าไม้มีปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอในช่วงระยะแรกของการตั้งตัว และสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้

พะยูงเป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางปลูกได้โดยทั่วไปในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมเหมาะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความรู้เกี่ยวกับอัตราการเจริญเติบโตของไม้พะยูงยังมีการศึกษากันน้อย โดยเฉพาะอัตราการเจริญเติบโตจนถึงช่วงอายุตัดฟันและปริมาตรมวลชีวภาพที่จะได้ในแต่ละช่วงอายุตัดฟัน แต่อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตของไม้พะยูงในช่วงอายุ 1-4 ปี นั้น (อนันต์ สอนง่าย และคณะ : 2531) ได้รายงานไว้ว่า เมื่อปลูกพะยูงด้วยระยะปลูก 2×3 เมตร กล้าไม้เมื่อมีอายุ 1 และ 2 ปี จะมีความสูง 1.1 เมตร และ 2.1 เมตร ตามลำดับ และกล้าไม้อายุ 4 ปี เมื่อปลูกในระยะ 2×2 เมตร จะมีความสูง 4.4 เมตร 


วิธีการปลูกและการบำรุงรักษา

วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม
ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไม้พะยูงคือในช่วงที่เป็นต้นหรือกลางฤดูฝน (ระหว่างพฤษภาคม-สิงหาคม) เพราะจะทำให้กล้าไม้มีอัตราการรอดตายที่สูงและมีระยะเวลา นานพอสำหรับการตั้งตัว การปลูกพะยูงโดยทั่วไปจะปลูกด้วยกล้าไม้ ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการปลูกด้วยเหง้า ก่อนจะย้ายปลูกลงในแปลงประมาณ 2 อาทิตย์ ควรลดปริมาณการให้น้ำ (การรดน้ำ) แก่กล้าลง ทั้งนี้เพื่อให้กล้าไม้มีการปรับตัว และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้หลังจาก การปลูกเนื่องจากฝนทิ้งช่วงก่อนนำไปปลูกกล้าไม้ควรได้รับการใส่ปุ๋ยด้วยในปริมาณที่พอเหมาะ (ประมาณต้นละ 1 ช้อนชา) ทั้งเพื่อให้ให้กล้าไม้มีปริมาณธาตุอาหาร ที่เพียงพอในช่วยระยะแรกของ การตั้งตัว และสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ 

การเตรียมหลุมสำหรับการปลูกกล้าไม้ ควรขุดให้ลึกพอที่จะคลุมระบบรากได้หมดหาก มีการใส่ปุ๋ยที่กล้าไม้ก่อนย้ายปลูกแล้ว การใส่ปุ๋ย ที่ก้นหลุมอาจจะไม่จำเป็น หากบริเวณแปลงปลูกมีปลวกอยู่มากควรใส่ยากำจัดปลวกที่ก้นหลุมด้วย สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสมนั้นควร จะเป็น 2 x 2 หรือ 3 x 3 เมตร ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกันเท่าใดนักในอัตราการเจริญเติบโต (อนันต์ สอนง่าย และคณะ : 2531) 

ไม้พะยูงสามารถปลูกผสมกับไม้ชนิดอื่นได้ แต่พรรณไม้ที่จะปลูกผสมกับพะยูง ควรเป็นพรรณไม้ที่มีความใกล้เคียงกัน ทั้งอัตราการเจริญเติบโต และความต้องการในสภาพของระบบนิเวศน์ที่คล้ายคลึงกันทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการวิวัฒนาการร่วมกันและลดการแก่งแย่งกันของระบบรากและเรือนยอดในระยะยาว พรรณไม้ที่จะใช้ปลูกร่วมกับพะยูงอาจเป็น ประดู่ มะค่าโมง และแดง เป็นต้น 
การบำรุงรักษา 

ระยะเวลาสำหรับการบำรุงรักษาแปลงปลูกไม้พะยูงนั้นยังกำหนดแน่นอนไม้ได้ เพราะขึ้นอยู่กับงบประมาณและการ เจริญเติบโตของต้นไม้ ที่ปลูกแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถครอบคลุม การเจริญเติบโตของวัชพืชได้เร็วเพียงใด อย่างไรก็ตามพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่าควรมี การบำรุงรักษาติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี 
การบำรุงรักษามีวิธีปฏิบัติในลักษณะเดียวกับการบำรุงรักษาพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ ที่กำจัดวัชพืชควรดำเนินการ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะในฤดูแล้งไม่ควรให้มีวัชพืชหรือเศษวัชพืชอยู่ในแปลง เพราะจะกลายเป็นเชื้อเพลิงและก่อให้เกิดไฟไหม้แปลงได้การกำจัดวัชพืชในช่วงก่อนถึงฤดูแล้ง
จึงมีความสำคัญมากและควรดำเนินการควบคู่ไปกับการป้องกันไฟ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากในระยะที่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ การป้องกันไฟควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม หรือเมื่อแน่ใจว่า ไม่มีโอกาสที่จะเกิดไฟได้อีก 

การใส่ปุ๋ยในระยะที่ต้นไม้ยังเล็กมีความสำคัญมากเพราะยังอยู่ในภาวะที่ต้องแก่งแย่ง กับวัชพืชกล้าไม้จึงควรได้รับ การใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณการป้องกันโรค และแมลงหากมีการระบาดอย่างรุนแรงก็มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสม พร้อมทั้งขจัด ทำลายไม้ที่ได้รับความเสียหายจากโรคและแมลง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นที่แพร่ระบาดของโรคและแมลงต่อไป ในขณะที่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ช่วง 3-5 ปีแรกของการปลูกไม้ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเข้าแปลงปลูกเพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นจะเหยียบย่ำต้นไม้และกัดกินใบและยอดซึ่งจะทำให้ต้นไม้เสียรูปทรงและอาจตายได้ 

การบำรุงต้นไม้ด้วยการตัดและแต่งกิ่งสำหรับพะยูงอาจจะไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก นอกเสียจากเป็นส่วนที่ถูกทำลายด้วยโรคและแมลง เพื่อมิให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดต่อไป การปลูกพะยูงในระยะปลูกที่แคบเช่น 2 x 2 เมตร จะช่วยให้ต้นไม้มีการจัดระบบกิ่งเองตามธรรมชาติได้ดีกว่าการปลูกในระยะที่ห่างสำหรับการตัดสางขยายระยะนั้นยังไม่มีตัวเลขกำหนดแน่นอนว่าควรจะเป็นเมื่อไรหรือเมื่อไม้มีขนาดเท่าใดเพราะขึ้นอยู่กับระยะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น อย่างไรก็ตามข้อสังเกตสำหรับพิจารณาการตัดสางขยายระยะคือ เมื่อเรือนยอดเริ่มเบียดเสียดชิดกันมาก และการตัดสางขยายระยะ ควรพิจารณาต้นที่โตด้อยหรือแคระแกร็นกว่าต้นอื่นเป็นหลัก 

                                                             

การใช้ประโยชน์และข้อจำกัด 

การใช้ประโยชน์ 
เนื้อไม้ เนื่องจากพะยูงมีเนื้อไม้ที่มีสีสรรที่สวยงาม จึงมีการนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ แกะสลัก สิ่งประดิษฐ์ ไม้ถือและด้ามเครื่องมือ คุณภาพดี ราคาแพง ใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน กระบะรถยนต์ กระสวยทอผ้า ด้ามหอก คันธนู หน้าไม้ ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย โทน รำมะนา ลูกระนาด 
ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงครั่ง ไม้พะยูง เป็นไม้ที่เลี้ยงครั่งได้ดีชนิดหนึ่ง โดยให้ผลผลิตสูงถึงต้นละประมาณ 50 กก. และให้ครั่งได้มาตรฐานจัดอยู่ในเกรด A 
ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร ราก ใช้รับประทานแก้พิษไข้เซื่องซึม เปลือก ต้มเอาน้ำแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง ยางสด ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย 
ประโยชน์ของไม้พะยูงโดยมากจะอยู่ในรูปของการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ที่มีสีสันและลวดลายสวยงามจนถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิด 
หนึ่งในตลาดโลก เนื้อไม้พะยูงมีความละเอียด เหนียวแข็งทนทานและชักเงาได้ดีมีน้ำมันในตัวจึงมักใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ ใช้ในการแกะสลัก และทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ 


ข้อจำกัดของไม้ชนิดนี้

พะยูงแม้จะเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญและสามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ แต่เนื่องจากเป็นไม้ที่โตค่อนข้างช้า อีกทั้งไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับช่วงอายุตัดฟันและอัตราผลผลิตที่พึงได้ พะยูงจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในการปลูกสร้างสวนป่าอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการปลูกไม้ชนิดนี้ให้ประสบความสำเร็จ สำหรับการทำลายของโรคและแมลง นั้นไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรค สำคัญของการปลูกสร้างสวนป่าของไม้ชนิดนี้ 
ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจในการปลูกไม้พะยูง
พะยูงเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่คุ้มค่าแก่การลงทุนและให้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตามคุณภาพของเนื้อไม้นับว่า เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงไม้พะยูงมีแนวโน้มที่จะแตกเป็นพุ่ม ตั้งแต่ในขณะที่มีอายุน้อยเพียง 3-4 ปี ดังนั้นการปลูกควรจะปลูกในระยะชิด เช่น 2 x 2 เมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการบังคับรูปทรงของต้นไม้ให้มีความเปลาตรงมากขึ้นและสะดวกต่อการควบคุมวัชพืช และที่สำคัญเมล็ด ที่จะใช้สำหรับการเพาะกล้าควรมีคุณภาพหรือได้รับการปรับปรุงคุณภาพพันธุศาสตร์แล้ว 

                                                         

สถานการณ์ป่าไม้พะยูงปัจจุบัน - เมืองไทยแหล่งสุดท้ายในโลก 

ขณะนี้สถานการณ์การลักลอบตัดไม้ทำลายป่ายังคงวิกฤติมาก โดยเฉพาะไม้พะยูงถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ที่มีการลักลอบตัดมากที่สุดในตอนนี้ จากในอดีตที่เคยเป็นไม้สัก ไม้กฤษณา แต่ปรากฏว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการของไม้พะยูงมีสูงมากในแถบประเทศจีน เวียดนาม 
แหล่งสุดท้ายของโลก ไม้พะยูงไทยใกล้สูญพันธุ์ ในอีกไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากการปั่นราคาจนกลายเป็นไม้แพงสุดในโลก ลบ.ม.ละ 2.5-3 แสน  
ถึงขั้นมีนายทุนจากต่างชาติเข้ามาสร้างเครือข่ายตัดไม้พะยูง ในป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.สุรินทร์ และอุทยานแห่ชาติ ภูจองนายอย จ.อุบลฯ และเขาพระวิหาร ที่ยังเป็นแหล่งไม้พะยูงที่สมบูรณ์ ที่ผ่านมาถึงแม้เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังร่วมกับทหาร ตำรวจปราบปรามอย่างเต็มที่ แต่ก็ปรากฏว่ายังคงมีไม้ถูกตัดออกจากป่าจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและยึดไม้พะยูงของกลางไว้คิดเป็นมูลค่ามากถึง 1.9 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลก็ไม่ให้นำไม้ออกมาขายทอดตลาด เพราะเป็นห่วงว่าจะถูกนายทุนพวกนี้มาซื้อไม้พะยูงกลับเอาไป  

เพราะเวลานี้ในตลาดโลกมีการปั่นราคาไม้พะยูงจนราคาพุ่งสูงมากถึงตับละ 5 หมื่นบาท โดยไม้ 1 ตับ จะมีขนาดหน้าไม้ 20x40 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร หรือราคาลูกบาศก์เมตรละ 2.5-3 แสนบาท หรือถ้าคิดเป็นต้นขนาด 1 คนโอบ ก็ราคาตั้งแต่ 3 แสนบาทขึ้นไป
การลักลอบตัดไม้พะยูงนั้นจะทำเป็นขบวนการโดยมีทั้งในส่วนของคนไทยเองและชาวกัมพูชา โดยการลักลอบค้าไม้พะยูงจะมีวิธีการไม่แตกต่างจากขบวนการค้ายาบ้า มีการตัดตอนผู้ที่ร่วมกลุ่มขบวนการเป็นทอด ๆ โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจพบพบความเชื่อมโยงได้ ซึ่งจะมีคนชี้เป้าว่ามีไม้พะยูงขึ้นอยู่จุดใดบ้างซึ่งมักจะเป็นคนพื้นที่ ซึ่งเพียงแค่การชี้เป้านี้ก็จะได้ค่าตอบแทนแล้วต้นละ 5,000 บาท 
ปัจจุบัน ไม้พะยูงถือเป็นไม้สงวน หากใครมีไว้ในครอบครอง  ถือว่ามีความผิด  เรียกได้ว่า สถานการณ์ไม้พะยูงในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายแหล่งเดียวในโลก กำลังเผชิญกับสภาวะที่ล่อแหล่มต่อการสูญพันธ์ุ หรือสูญสิ้น 


สาเหตุที่มีราคาแพง 


เวลานี้จึงถือว่าไม้พะยูงเป็นไม้ที่ราคาแพงมากที่สุดในโลกและแพงกว่าไม้สัก ซึ่งราคาลูกบาศก์เมตรละไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น 
ส่วนสาเหตุที่ไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงมาก เนื่องจากมีความนิยมในการใช้ไม้ชนิดนี้ในประเทศจีนอย่างมาก โดยเริ่มจากการนำเข้าไม้ชนิดนี้ไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2551 
ต่อมาก็มีความนิยมนำไม้พะยูงไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ระยะหลังไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก  ทางนายทุนจึงหันมาทำเป็นวัตถุมงคลและของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น ตัวปี่เซียะ เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว แทน 
ทำไมคนไทยไม่ใช้ประโยชน์จากไม้พะยูงมากเท่าไร ?   
อย่างไรก็ตามในส่วนของคนไทยไม่นิยมใช้ประโยชน์จากไม้พะยูง เพราะมีความเชื่อบางอย่าง จึงไม่นำไม้พะยูงมาทำเป็นไม้กระดาน เตียงนอน และบันไดบ้าน ใช้เพียงทำรั้วบ้านเท่านั้น
สำหรับไม้พะยูงนั้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ตระกูลเดียวกับไม้แดง ไม้ประดู่ ที่สำคัญในเวลานี้ไม้พะยูงถือว่าเหลือเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เพราะประเทศลาวที่เคยมีก็หมดไปแล้ว 
"หากสถานการณ์การลักลอบตัดไม้พะยูงยังรุนแรงเช่นนี้ไปอีกเรื่อยๆ คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี ไม่เพียงแต่ไม้พะยูงจะหายไปจากประเทศไทยเท่านั้น แต่จะหมายความว่ามันได้หายไปจากโลกอีกด้วย เพราะเป็นไม้ เนื้อแข็งมากที่ปลูกยาก โตช้า ใช้เวลามากถึง 40 ปี ถึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพบว่า ตอไม้ที่ถูกตัดโค่นนั้นมีอายุเป็นร้อย ๆ ปี จึง น่าเสียดายเอามากๆ "       
เจ้าหน้าที่ ปทส.รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า  “หาก จะแก้ปัญหานี้ ภาครัฐควรทำการรณรงค์และปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของทรัพย์กรป่าไม้ และภัยพิบัติที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับพวกเขา เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากถูกตราหน้าว่าเป็นคน เนรคุณต่อแผ่นดินเกิดอย่างแน่นอน”
                                              
 
                   3)  http://www.dailynews.co.th                  4) http://hilight.kapook.com    
               5)  http://phangngaplantseedling.go.th 

ขอขอบคุณ: www.oknation.net