เรื่องน่ารู้ของกล้วยไม้ดิน..สกุลสปาโตกลอสติส v.3

หน้าแรก ต้นไม้ เรื่องน่ารู้ของกล้วยไม้ดิน..สกุลสปาโตกลอสติส v.3

การดูแลรักษา

     การให้น้ำ ควรใช้น้ำสะอาด ระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำก็คือเช้าและเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินทั้งนี้ ก็เพราะว่าจะทำให้ต้นกล้วยไม้แห้งก่อนมืด พื่อลดปัญหาโรค ลำต้นเน่าได้ ควรใช้บัวรดน้ำที่มีฝอยละเอียด เพื่อป้องกันมิให้ใบเสียหาย ในช่วงฤดูร้อนควรฉีดพ่นน้ำที่พื้นโรงเรือน เพื่อ เพิ่มความชื้นและช่วยลดอุณภูมิในโรงเรือนสำรับช่วงฤดูฝนให้สังเกตุวัสดุปลูก ว่า ยังมีความชื้นอยู่หรือไม่ ในช่วงฝนตกมากอาจไม่จำเป็น ต้องรดน้ำเลยก็ได้
     การกำจัดวัชพืช สำรับวัสดุปลูกที่ใช้ดินจะมีปัญหามาก กับเรื่องวัชพืชที่อาจติดมา กับปุ๋ยคอก กำจัดโดยใช้มือถอน การใช้แกลบดิบ เปลือกถั่ว หรือ มะพร้าวสับคลุมดิน จะช่วยลด ปัญหานี้ได้
     การจัดวางกระถาง ในฤดูฝนความชื้นในอากาศสูง ควร ตั้งกระถางให้ห่างกันเป็นการลดการสะสมความชื้นป้องกันการเกิดโรคเน่าได้ กล้วยไม้ดิน ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ ควรทำชั้นวางโดยยกให้สูงจากพื้น๓๐-๕๐ ซม. ชั้นวางอาจทำจากไม้ไผ่ตีเป็นซี่ๆ หรือ ตระแกรง เหล็กก็ได้เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีบริเวณก้นกระถาง

การใส่ปุ๋ย

• ไม่ควรใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ที่แยกหน่อใหม่ๆหรือเพิ่งออกจากขวด
• การใช้ปุ๋ยเกร็ดละลาย น้ำฉีดพ่นควรใช้ในอัตราส่วนที่เจือจาง
• การให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สามารถกระทำได้หลังจากย้ายปลูกจนกล้วยไม้ตั้งตัวดีแล้ว
• เมื่อต้นไม้สมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก สามารถใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเร่งดอก เช่น สูตร ๑๓-๒๖-๗
• ควรงดปุ๋ยวิทยาศาสตร์ชนิดเม็ดทุกชนิดเช่น ยูเรีย เพื่อ ป้องกันกล้วยไม้ดินเน่าที่โคนได้
• การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ทุกๆ๒-๓ เดือน กระถางละ๑-๒ ช้อนจะทำให้กล้วยไม้โตเร็ว



โรค และแมลง

- โรคเน่า เกิดจากเชื้อรา โรคนี้พบว่าพบระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นในอากาศมีสูง เครื่องปลูกระบายน้ำได้ไม่ดี โรงเรือนไม่มีอากาศถ่ายเท มีการใช้ปุ๋ยที่ไนโตรเจนสูงติดต่อกันเวลานาน การป้องกันกำจัด
1) แยกต้นที่เป็นโรคออกมาทำลายทิ้งเสีย
2) ใช้วัสดุปลูกที่สะอาดและระบายน้ำได้ดี
3) ทำชั้นวางเพื่อให้ลมโกรกและอากาศถ่ายเทพื้นก้นกระถาง
4) หากเป็นไปได้ควรทำโรงเรือนหลังคาพลาสติก
5) ใช้ยาเทอราคลอ ผสมน้ำรดโคนต้น
6) การโรยปูนโดโลไรท์ ที่โคนต้นช่วยป้องกันได้
7) งดการให้น้ำชั่วคราว

- โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อราใบจะเป็นแผลกลมๆ สีน้ำตาล แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้นๆ สามารถทำลายดอกได้ด้วย การป้องกันกำจัด
1) ตัดใบและช่อดอกทำลายเสีย
2) ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แบนเลท, ออร์โธไซด์ ไดเทนเอ็ม ทุกๆ ๕-๗ วัน ถ้าพบว่าโรคระบาด

- เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีดำแพร่ระบาดในฤดูร้อน พบการทำลายมากที่ดอกเมื่อเพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงจะทำให้ดอกมีสีซีดการป้องกัน กำจัดโดยสารเคมี เช่น พอสซ์ แลนเนท ฯลฯ
- แมลงเต่าทอง ตัวเต็มวัยของเต่าทองจะทำลาย และกัดกินดอกและออกไข่ที่ช่อดอก เมื่อไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนมีลักษณะ เหมือนหนอนจะกัดกินทำลายช่อดอก ทำให้เกิดความ เสียหาย การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีเช่น แลนเนท เซฟวิน อโซดริน ฯลฯ



การปรับปรุงพันธุ์
 กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอย่างตามลักษณะของแต่ละพันธุ์ เช่น ทำเป็นไม้กระถาง ( Pot plant ) ใช้จัดสวนประดับสถานที่ ( Land scape ) รวมถึงทำเป็นไม้ตัดดอก ( Cut flower ) ก็สามารถทำได้ การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมตัวใหม่ๆออกมามากมาย ทั้งในสิงค์โปร์ ฮาวาย ฮอลแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย จนถึงขณะนี้มีผู้จดทะเบียนลูกผสมกล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสแล้ว มากกว่า ๖๐ สายพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้มีดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ในดอกเดียวกัน สามารถ ผสมตัวเอง และข้ามต้นพันธุ์ หรืออาจผสมข้ามสกุลก็ได้ 

วิธีการผสมพันธุ์กล้วยไม้ดิน

จากประสบการณ์ ควรจะใช้ช่วงเวลาในตอนเช้า ที่แสงแดดยังไม่จัด ช่วงเวลาประมาณ ๗.๐๐-๙.๐๐ นาฬิกา เลือกดอกที่บานได้๒-๓ วันจากต้นที่มีความสมบูรณ์ และควรเป็นดอกที่อยู่โคนช่อ เพราะดอกที่อยู่ปลายช่อมักจะให้ฝักขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ เมื่อดอกที่จะใช้ เป็นแม่พันธ์ ได้แล้วให้เด็ดกลีบปากออก แล้วเขี่ยเกสรตัวผู้ในดอกออกทิ้ง จากนั้นเลือกนำเกสรที่จะใช้ เป็นพ่อพันธุ์ จากอีกดอกหนึ่งโดยพิจารณาจากสี ฟอร์มดอกฯลฯ เขี่ยเกสรตัวผู้จากดอกที่ต้องการ นำไป ติดไว้ที่แอ่งเกสรตัวเมีย เมื่อตรวจสอบดูแลความเรียบร้อย ทำการติดป้ายชื่อระบุชื่อพ่อ และแม่พันธุ์วันที่ทำการผสม ควรผสมครั้งละ๒-๓ ดอกต่อช่อ เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่นมีแมลงมากัดทำลายหรือฝักแตก อายุการถือฝักจะแตกต่างกันไป เช่นฤดูร้อนฝักจะมีอายุสั้น ฤดูหนาวฝักจะมีอายุนานกว่า ฤดูร้อนเล็กน้อย อายุฝักโดยเฉลี่ยประมาณ ๑ เดือน หรือ ๒ เดือนในบางชนิด ปํยหาที่พบเกี่ยวกับอายุฝักกล้วยไม้ชนิดนี้คือฝักจะแก่และแตกเร็วมาก

เทคนิคการยืดอายุฝัก (ทำให้ฝักแตกช้าลง)

1) งดใส่ปุ๋ย
2) ผสมกล้วยไม้ในช่วงฤดูหนาว
3) เพิ่มความชื้นให้กับฝัก โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดเล็กหุ้มฝักไว้
4) อาจใช้ตู้อบเพิ่มความชื้น เช่นเดียวกับการปลูกบอนสี(ควรระวังเรื่องโรคด้วย)
5) ย้ายต้นมาไว้ในที่ร่มให้ถูกแสงแดดน้อยที่สุด

ในประเทศไทยได้มีการผสมข้ามชนิดของกล้วยไม้สกุลนี้มาช้านานแล้วทำให้เกิดต้นลูกผสมหลากสีสรรที่ส่วนใหญ่มักไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานกล่าวคือไม่สามารถบอกได้ว่าลูกผสมต้นใดเกิดจากพ่อแม่ต้นใด ทำให้เกิดปัญหา ในการเรียกชื่อสายพันธุ์
ขอขอบคุณ: www.orchidtropical.com